“ลมยาง” เดอะ ซีรีส์ EP.2 : เติมลมผิด ชีวิตเปลี่ยน “ลมยางแข็ง เกาะถนนกว่า” ???
ใน EP1. ที่เริ่มกันจาก “พื้นฐานการเติมลมยาง” กันไปแล้ว ใน EP2. นี้ ก็จะพูดถึงความเข้าใจผิดในการเติมลมยาง ทำไมผมถึงใช้คำว่า “เติมลมผิด ชีวิตเปลี่ยน” หลายท่านอาจจะคิดว่า ก็แค่ลมยาง ทำไมต้องซีเรียสอะไรขนาดนั้น ??? แต่จากสิ่งที่สั่งสมมา การเติมลมยางผิด มันอาจจะไม่ได้ส่งผลในระยะสั้น แต่ใน “ระยะยาว” มีแน่ๆ หลายคน หลายคัน ก็สูญเสียจากอุบัติเหตุ จาก “ยางระเบิด” ในขณะขับขี่ด้วยความเร็ว “เดินทาง” ไม่ต้องสูงมากนักหรอกครับ ความเร็วระดับ 120 km/h เอาแค่นี้พอ ถ้ายางระเบิดแล้วคนขับไม่สามารถควบคุมรถได้ละครับ ??? สิ่งที่น่ากลัว คือ “การเชื่อแบบขาดเหตุผล” ก็จะมีคำว่า “เฮ้ย เขาว่าเติมแบบนั้นแบบนี้ดีกว่าเยอะ” ไอ้ “เขา” ที่ว่านั่นคือใคร ก็ไม่มีใครตอบได้ และคนที่มาพูดกับคุณนั้น เขาก็ไม่มีเหตุผลพอที่จะ Support อะไรทั้งสิ้น เช่น “เติมแข็งๆ ไว้ก่อน เกาะถนนดี เข้าโค้งดีกว่า” นี่แหละ ก่อนอื่นต้องพูดว่านี่คือ “หายนะ” มาเยือน ลองอ่านก่อนครับ แล้วจะทราบว่าทำไม…
- รู้ก่อน เติมลมยางแข็งแล้วเป็นไง : การเติมลมยางแข็งเกินไป สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ “สรีระของยาง” หน้ายางจะ “ป่องกลาง” บ่ายางจะ “ลอย” ขึ้น คล้ายๆ ยางมอเตอร์ไซค์ แต่นี่รถยนต์ครับ สิ่งที่ตามมา คือ “หน้าสัมผัสยางกับถนนน้อยลง” แค่นี้คุณพอจะรู้แล้วใช่ไหมครับ ว่า “มันดีหรือไม่” จุดสังเกตง่ายๆ เมื่อลมยางแข็งเกินไป จะรู้สึกถึงอาการ “กระด้างและสะเทือน” และลองสังเกตที่หน้ายาง “บ่ายางจะไม่มีรอยสัมผัสกับถนน” มันจะดำๆ ไม่เปื้อนฝุ่น ถ้าเราเติมลมยางถูกต้อง “รอยสัมผัสหน้ายางกับถนนจะเต็ม” การยึดเกาะถนนก็ทำได้เต็มประสิทธิภาพของหน้ายาง…
- เกาะถนนด้อยลง แต่ได้บางอย่างเพิ่มขึ้น : จากการที่ยางมีหน้าสัมผัสที่ไม่เต็มพิกัด รวมไปถึง การซับแรงกระแทกจากพื้นถนนด้อยลงไป เพราะยางมีการยืดหยุ่นตัวต่ำกว่าปกติ แต่สิ่งที่คุณจะได้แน่ๆ คือ “กระด้าง กระเด้ง กระดอน” คือ คุณกำลังแปลงสภาพจาก “ยางมีลม” เป็น “ยางตัน” นั่นเอง ทำให้เกาะถนนด้อยลง คุณอาจจะรู้สึกว่า “พวงมาลัยตอบสนองไวและเบาขึ้น” เพราะยางมันแข็งไง มันก็เลยไม่บิดตัวมาก แต่ในความเร็วสูง ก็จะยิ่ง “หนีโค้ง” หรือ “หนีถนน” ขับเร็วแล้วรู้สึกรถลอยๆ นั่นแหละครับ ดีไหมละ…
- โครงสร้างยางเสียหายเร็วกว่าปกติ : ยางก็มีการยืดหยุ่นตัวครับ ไม่อย่างนั้นจะซับแรงกระแทกได้อย่างไร แต่ถ้าเราเติมลมยางแข็งมากเกินไป ทำให้โครงสร้างยางรับภาระหนักกว่าปกติ ส่งผลให้ยางเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร…
- ช่วงล่างพังเร็วขึ้น : ด้วยเหตุแห่งความกระด้างและสะเทือน แทนที่ยางจะช่วย “ซับแรง” เป็นด่านแรก เพราะมันสัมผัสกับถนน กลายเป็น “ส่งแรง” แทน ทำให้ “ช่วงล่างทำงานหนักผิดปกติ” สรุปง่ายๆ อายุการใช้งานก็จะสั้นลงครับ…
- ยางระเบิดง่ายขึ้น : เมื่อยางเริ่มเก่า และยังคงติดนิสัยเติมลมแข็งเกินไปไม่ยอมเปลี่ยนแปลง โครงสร้างของยางเริ่มมีการเสื่อมสภาพ ตอนวิ่งไปด้วยความเร็ว รวมไปถึงขับเดินทางไกล ทำให้ยางร้อน ลมยางยิ่งขยายตัวมาก กลายเป็น “เบ่ง” เกินพิกัด ทำให้มีโอกาสเสี่ยง “ยางระเบิด” สูงกว่าปกติ ก็ตัวใครตัวมันละครับ…
- อาจจะได้ในบางเรื่อง แต่จะคุ้มเสียหรือเปล่า : หลายคนที่นิยมเติมลมยางแข็งไว้ก่อน อาจจะไม่ได้ผิดเสียทั้งหมด บางทีก็มีเหตุผลของเขานะครับ ประการแรก “ขี้เกียจเติมบ่อย” อาจจะไม่มีเวลาจริงๆ หรือ “ขี้ลืม” ก็เข้าใจได้ครับ คนเราก็ต้องมีธุรกิจธุรกรรมเป็นของปกติ ถ้าเติมมากกว่าปกติสัก 2 ปอนด์ ก็ไม่เป็นไร อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ไม่ใช่ “อัด” เพิ่มไปแบบ “โอเวอร์” นะครับ ยังไงเสียสละเวลา “เช็ค ตรวจ เติม” บ้างดีกว่า คงไม่เสียเวลาชีวิตมากนัก ดีกว่า “เสียชีวิต” โดยไม่อันควร อีกสิ่งหนึ่ง คือ มีความเชื่อว่า “ประหยัดน้ำมันขึ้น” เพราะยางแข็งมันจะกลิ้งได้ง่ายกว่ายางนิ่มๆ ทำให้แรงต้านการหมุนต่ำกว่า อันนี้มีผล เพราะเหล่า “สายแข่งประหยัดน้ำมัน” จะเติมลมยางแข็งมากๆ ให้โหลดมันน้อยที่สุด เพื่อให้รถประหยัดน้ำมันที่สุด แต่นั่นคือ “ไม่ใช่การใช้งานปกติ” เป็นการแข่งขันเฉพาะกิจ ส่วนตัวแนะนำว่า “อย่าหาทำ” เพราะคงได้ไม่คุ้มเสียหรอกครับ…
จบกันไปในภาคนี้ การเติมลมยางแข็งเกินไป มันก็ส่งผลกระทบกับสมรรถนะของรถ ความทนทานของยาง ช่วงล่าง รวมไปถึง “การเสี่ยงอันตรายในการขับขี่” ต่อให้คุณขับในเมืองก็ตาม ความกระด้าง สะเทือน ทำให้ขับและนั่งไม่สบาย กลายจาก “รถ” เป็น “เกวียน” ในเมืองนี่แหละตัวดีเลย ส่วนการเกาะถนนด้อยลง หากคุณวิ่งทางตรงๆ เรียบๆ ก็คงจะไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อต้องเข้าโค้ง หลบอะไรกะทันหัน รถเกิด “สไลด์” ได้ง่าย ก็คงไม่ต้องเดาต่อนะครับ ครั้งต่อไป จะพูดถึงทางตรงกันข้าม คือ “ลมยางอ่อน” จะส่งผลร้ายอย่างไร จะได้คุ้มเสียหรือเปล่านะ…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th